จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ขำๆ แก้เครียด



ที่มา http://www.youtube.com
<iframe width="853" height="480" src="http://www.youtube.com/embed/mLkiYlTDBsE" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

ที่มาhttp://www.youtube.com

แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

     ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบใดต่างก็ประสบกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจดังกล่าวทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจแต่ละระบบต่างก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปดังนี้
  1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม (capitalism) จะใช้กลไกตลาด (ราคา) หรือที่มักเรียกว่า มือที่มองไม่เห็น เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กล่าวคือ ราคา จะเป็นตัวช่วยตอบปัญหาต่างๆตั้งแต่เริ่มผลิตอะไร อย่างไร และเพื่อใคร ปกติสินค้าและบริการใดที่เป็นที่ต้องการผู้บริโภคก็จะเสนอราคาซื้อสูง นั่นคือ ราคาจะเป็นตัวสะท้อนที่ทำให้ผู้ผลิตทราบความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าและบริการตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ปัญหาที่ว่า ผลิตอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาในเรื่องของเทคนิคการผลิตว่าจะผลิตโดยเน้นใช้ปัจจัยแรงงานหรือปัจจัยทุน ก็ขึ้นอยู่กับราคาโดยเปรียบเทียบของปัจจัยแต่ละประเภท โดยมีหลักว่าผู้ผลิตจะเลือกผลิต หรือใช้ปัจจัยการผลิตในประเภทที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำสุด ซึ่งราคาก็เป็นเครื่องชี้อีกเช่นเดียวกัน สำหรับปัญหา ผลิตเพื่อใคร กล่าวคือ ใครควรจะได้รับการจัดสรรสินค้าและบริการไปอุปโภคบริโภคมากหรือน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับใครมีอำนาจซื้อและเสนอราคาให้มากกว่า ผู้ผลิตหรือผู้ขายก็จะเสนอขายสินค้าและบริการนั้นไปให้ บุคคลนั้นก็จะได้รับสินค้าและบริการไปอุปโภคบริโภคตอบสนองความต้องการของตน โดยสรุป ภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้ราคาจะเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
  2. ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะถูกกำหนดมาจากส่วนกลางหรือรัฐบาล กล่าวคือ รัฐบาลจะเป็นผู้วางแผนดำเนินการสั่งการแต่เพียง ผู้เดียว เอกชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ รัฐจะเป็นผู้กำหนดว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าใด อย่างไร และจำหน่ายจ่ายแจกหรือกระจายสินค้าและบริการไปให้กับใคร
  3. ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบ เศรษฐกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจนี้จึงใช้กลไกรัฐเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม มีการใช้กลไกราคาอยู่บ้าง แต่ยังมีบทบาทค่อนข้างจำกัด
  4. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม แนวทางการแก้ไขปัญหาจะใช้ทั้งกลไกราคาและกลไกรัฐร่วมกันไป กล่าวคือ กิจการที่เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อประชาชนโดยส่วนรวม เช่น กิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้บริการกับประชาชนเอง (กลไกรัฐ) แต่กิจการโดยทั่วไปจะปล่อยให้เป็นไปตามระบบของกลไกตลาด (ราคา)

ที่มา  http://blog.eduzones.com

ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

          เนื่องจากความต้องการของมนุษย์โดยทั่วไปมีอยู่ไม่จำกัด (unlimited wants) แต่ทรัพยากร ของโลกมีอยู่อย่างจำกัด (limited resources) หรือเป็นของหายากและใช้หมด (scarce) จึงเกิดปัญหาว่าจะทำอย่างไรจึงจะจัดสรรหรือใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นไปในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุด ปัญหานี้ก็คือปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจซึ่งทุกๆประเทศในโลกไม่ว่าจะมีระบบเศรษฐกิจแบบใดก็ตามต่างต้องประสบกับปัญหาดังกล่าวทั้งสิ้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ปัญหา คือ
  1. ผลิตอะไร (what to produce) เนื่องจากทรัพยากรทางเศรษฐกิจของโลกมีจำกัดและไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดของมนุษย์ได้ จึงจำเป็นต้องมีการเลือกว่าจะผลิตสินค้าและบริการอะไรบ้าง ผลิตในจำนวนเท่าใด ลำดับของการผลิตควรเป็นอย่างไร อะไรควรผลิตก่อน อะไรควรผลิตหลัง เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด ไม่พอเพียงกับความต้องการ เราจึงควรเลือกผลิตสินค้า และบริการซึ่งเป็นที่ต้องการและมีความจำเป็นมากที่สุดก่อนเป็นลำดับแรก และผลิตตามความต้องการ ลดหลั่นลงมาเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาได้นั้นสามารถนำไปใช้ตอบสนองความ ต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าไม่ผลิตตามความต้องการแล้วสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมา ได้ก็จะเกิดการสูญเปล่าเนื่องจากไม่ได้ถูกนำไปใช้ ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์
  2. ผลิตอย่างไร (how to produce) เมื่อทราบแล้วว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าใด ปัญหาต่อมาก็คือจะเลือกใช้เทคนิคการผลิตอย่างไรจึงจะทำให้การผลิตสินค้าและบริการนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำที่สุด โดยให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ
    คำว่า ประสิทธิภาพ (ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำที่สุด) หมายถึง
  1. ผลิตสินค้าและบริการให้ได้จำนวนหน่วยของผลผลิตตามที่ต้องการ โดยใช้ทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตให้น้อยที่สุด
  2. ผลิตสินค้าและบริการให้ได้จำนวนหน่วยของผลผลิตมากที่สุด ภายใต้ต้นทุนการผลิต จำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นไปในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังกล่าวจะถือว่าเป็นการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
  1. ผลิตเพื่อใคร (for whom to produce) ปัญหาสุดท้ายคือ สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้น มาได้แล้วนั้นจะจำหน่ายจ่ายแจกหรือกระจายไปยังบุคคลต่างๆในสังคมอย่างไร (ให้แก่ใคร จำนวนเท่าใด) จึงจะเหมาะสมและเกิดความยุติธรรม เพื่อแต่ละบุคคลจะได้ประโยชน์สูงสุดจากสินค้าและบริการนั้น
ที่มา http://blog.eduzones.com

ความสัมพันธ์ของวิชาเศรษฐศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ

          เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านต่างๆ เช่น การเลือกการผลิต การบริโภค การดำรงชีพ และการปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆที่อยู่ในสังคมเดียวกันหรือต่างกัน ดังนั้นเศรษฐศาสตร์จึงเป็นวิชาหนึ่งของสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ที่มี ผลมาจากการอยู่รวมกันในสังคมและมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ซึ่งในการศึกษาและการแก้ไข ปัญหาต่างๆ ตลอดจนการจัดระเบียบวิธีที่เกี่ยวกับมนุษย์จำเป็นที่วิชาเศรษฐศาสตร์ต้องไปเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับวิชาอื่นๆในสังคมศาสตร์ เช่น การบริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ และอื่นๆ
  1. เศรษฐศาสตร์กับการบริหารธุรกิจ มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ ในการศึกษาเศรษฐศาสตร์นั้นส่วนหนึ่งจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ผลิต เช่น การศึกษาทฤษฎีการผลิต ต้นทุนการผลิตและตลาด ฯลฯ จะเห็นได้ว่าแต่ละหัวข้อจะมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นกล่าวได้ว่าการบริหารธุรกิจส่วนหนึ่งเป็นการนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ ให้ได้รับกำไรสูงสุดและธุรกิจเจริญเติบโตก้าวหน้า
  2. เศรษฐศาสตร์กับรัฐศาสตร์ มีความสัมพันธ์กันในแง่ที่ว่าแต่ละประเทศจะไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองได้หากประเทศไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่มีความมั่นใจจึงชะลอการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ในทางกลับกัน หากนักลงทุนมีความมั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง การลงทุนจะเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าปัญหาการเมืองกับปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาควบคู่กันไม่สามารถแยกจากกันได้ กล่าวคือ จะต้องพัฒนาไปพร้อมๆกันประเทศจึงจะมีการพัฒนาอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ
  3. เศรษฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ มีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม และส่วนหนึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นหากนักกฎหมายมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ย่อมจะเป็นผลดีต่อการตราหรือออกใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์เองจำเป็นจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายด้วย ทั้งนี้ เพื่อการใช้กฎหมายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะได้เป็นไปตามที่มุ่งหวัง
  4. เศรษฐศาสตร์กับประวัติศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถใช้เป็นบทเรียนหรือเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อย่างน้อยที่สุดประวัติศาสตร์จะเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงลำดับของเหตุการณ์ในอดีตที่ เกิดขึ้น ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อทุกสาขาวิชา รวมทั้งวิชาเศรษฐศาสตร์ด้วย ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันได้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของการเรียนการสอนทางด้านเศรษฐศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย
  5. เศรษฐศาสตร์กับจิตวิทยา เนื่องจากวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนั้นความรู้ในด้านจิตวิทยาจึงมีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ทางเศรษฐศาสตร์ เพราะต่างก็ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การจะอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ เช่น การเลือกบริโภคสินค้าของผู้ซื้อ ถ้ามีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาของมนุษย์ย่อมช่วยให้เข้าใจการกระทำบางอย่างของมนุษย์ได้ ในเวลาเดียวกัน นักจิตวิทยาอาจนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้
  6. เศรษฐศาสตร์กับคณิตศาสตร์และสถิติ สาขาหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษากันอยู่ในปัจจุบันคือการศึกษาเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องอาศัยคณิตศาสตร์และสถิติเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆหรือเพื่ออธิบาย ความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจเหล่านั้น
กล่าวโดยสรุป เศรษฐศาสตร์มิใช่วิชาเอกเทศ ผู้ที่จะศึกษาเศรษฐศาสตร์ได้ดีและสามารถนำ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ให้เกิดผลจำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจศาสตร์อื่นๆด้วย แต่ก็มิได้ หมายความว่าจะต้องศึกษาศาสตร์ทุกแขนงโดยละเอียด เพราะอาจเป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะทำได้ การศึกษา ศาสตร์อื่นๆเฉพาะในแง่ที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจวิชาเศรษฐศาสตร์ได้ดีขึ้น

เศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหภาค

    ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์แยกการศึกษาเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 2 สาขาใหญ่ๆ คือ
  1. เศรษฐศาสตร์จุลภาค (microeconomics) เป็นการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของหน่วยเศรษฐกิจใดหน่วยเศรษฐกิจหนึ่ง เช่น การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภครายใดรายหนึ่งว่าจะมีการตัดสินใจในการเลือกบริโภคสินค้าและบริการอย่างไร จำนวนเท่าใด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความพอใจสูงสุดภายใต้ขีดจำกัดของรายได้จำนวนหนึ่ง พฤติกรรมของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งว่าจะตัดสินใจเลือกผลิตสินค้าอะไร จำนวนเท่าใด ด้วย วิธีการอย่างไร และจะกำหนดราคาเท่าไร จึงจะได้กำไรสูงสุด ศึกษาพฤติกรรมการลงทุน การออมของ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ศึกษากลไกตลาดและการใช้ระบบราคาเพื่อการจัดสรรสินค้า บริการ และทรัพยากร อื่นๆ จะเห็นได้ว่าเศรษฐศาสตร์จุลภาคส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับราคาในตลาดแบบต่างๆ นักเศรษฐศาสตร์บางท่านจึงเรียกวิชาเศรษฐศาสตร์อีกชื่อหนึ่งว่า ทฤษฎีราคา (Price Theory)
  2. เศรษฐศาสตร์มหภาค (macroeconomics) เป็นการศึกษาภาวะเศรษฐกิจโดยส่วนรวม ทั้งระบบเศรษฐกิจหรือทั้งประเทศ อันได้แก่ การผลิตของระบบเศรษฐกิจ การบริโภค การออม และการลงทุนรวมของประชาชน การจ้างงาน ภาวะการเงินและการคลังของประเทศ ฯลฯ เศรษฐศาสตร์มหภาคโดยทั่วไปจะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น รายได้ประชาชาติ วัฏจักรเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและระดับราคา การคลังและหนี้สาธารณะ เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การเงินและสถาบันการเงิน และเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ฯลฯ

ประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์

    ก่อนที่จะกล่าวถึงประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมเราจึงต้องศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ จากความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆในโลกต่างต้องประสบกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจร่วมกัน อันเนื่องมาจากความไม่สมดุลระหว่างปริมาณของทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีอยู่อย่างจำกัดกับความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด ทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัดให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเฉพาะแต่ผู้เรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้นที่จำเป็นต้อง ศึกษาวิชาการนี้ ผู้เรียนในสาขาอื่นๆรวมทั้งประชาชนทั่วไปก็ควรมีความรู้พื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย เพื่อจะได้มีความเข้าใจในปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในระดับส่วนตัว ครอบครัว หรือระดับของประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ทุกๆคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากเป็นปัญหาในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ดังนั้นการมีความรู้พื้นฐาน ทางด้านเศรษฐศาสตร์จะเป็นประโยชน์ต่อตัวของบุคคลนั้นทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผู้ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์สามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมายดังนี้
  1. ในฐานะผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่ทำให้ตนได้รับความพอใจสูงสุดภายใต้ระดับรายได้ที่มีอยู่ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆได้เป็นอย่างดี เช่น สามารถคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้องและมีเหตุมีผล กำหนดแผนการบริโภค การออม และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
  2. ในฐานะผู้ผลิต ทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในการผลิต สินค้าและบริการอย่างคุ้มค่า ประหยัด ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ธุรกิจได้รับกำไรเพิ่มขึ้น และใน ทำนองเดียวกับผู้บริโภคคือทำให้ผู้ผลิตมีความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เช่น เข้าใจ ในความเป็นไปของปรากฏการณ์ของวัฏจักรเศรษฐกิจว่าโดยปกติเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆอย่างนี้เรื่อยไป ทำให้ผู้ผลิตสามารถตัดสินใจเลือกลงทุนในการดำเนินธุรกิจเหมาะสมกับสถานการณ์ ในขณะนั้นๆ เป็นต้น
  3. ในฐานะรัฐบาล การที่รัฐบาลมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะทำให้เข้าใจลักษณะและโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาทางเศรษฐกิจและหาแนวทาง แก้ไข โดยกำหนดออกมาเป็นแผนและนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ

ที่มา  http://blog.eduzones.com